วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมเต้าฮวยนมสด

เด็ก ๆ สนใจทำอาหาร ครั้งหนึ่งได้สูตรจากป้าติ๊กตอนทำเปเปอร์มาเช่ ก็เลยชวนคุณแม่ทำเต้าฮวยนมสดทานกัน เด็ก ๆ บอกว่าอร่อย อยากทำให้คนอื่นทานบ้าง แต่ถ้าเราทำแจก เราก็ไม่มีตังค์พอที่จะทำแจกขนาดนั้น มีเท่าไรก็ไม่พอหรอก เราทำขายได้ไหม เด็ก ๆ ขอความเห็นจากคุณแม่ แม่ก็ลองถามข้อจำกัดสารพัดว่า "มันเหนื่อย ร้อน ต้องดูแลลูกค้า ดูแลคุณภาพทั้งความสด สะอาด ทิ้งค้างไม่ได้นะ อากาศร้อนอาจเสียง่าย ต้องทำบันทึกรับจ่าย ต้องค้นหาวัสดุที่มีคุณภาพ แล้วเงินลงทุนจะไปเอาที่ไหน" เด็ก ๆ บอกว่า "เงินยืมจากแม่ ของซื้อจากห้าง ของก็ซื้อเท่าที่จะทำขาย" "แต่ของจากห้างมันแพงนะ" "ก็เลือกซื้อไง สืบดูราคาก่อน ถ้าที่ตลาดถูกกว่าก็ซื้อที่ตลาด แต่ของต้องอย่างเดียวกันนะ" "แล้วใครจะพาไปส่ง" "คุณพ่อหรือคุณแม่ไง ก็หนูอยากทำ" "แล้วถ้าขายไม่ได้ล่ะ" "ตอนแรกก็ทำขายน้อย ๆ ก่อนดูท่าทีว่ามีคนชอบไหม ถ้าขายไม่ดีก็ไม่ต้องขาย เหลือก็กินเองไงแม่ หนูว่ายังไงก็ต้องมีคนลองชิมแหละ" "แล้วหนูจะไปขายที่ไหน" "ก็ที่ทำงานแม่ไง" "กล้าเหรอ" "ทำไมจะไม่กล้า เราไม่ได้ไปขโมยของใครนี่แม่" "แล้วจะมาบ่นทีหลังไม่ได้นะ" ยิ้มแป้นดีใจตอบตกลงทั้งคู่ "เย่" คุณพ่อให้ยืม 1,000 บาท เด็ก ๆ ไปซื้อของ โดยที่จดรายการไปว่าจะซื้ออะไรบ้าง สรุปว่า ค่าภาชนะแพงที่สุด มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกชายเทเต้าฮวยแล้วภาชนะรั่ว บ่นใหญ่เลยว่า "ทำไมคนที่ผลิตเขาถึงไม่ตรวจสอบคุณภาพก่อนว่าใช้ดีหรือเปล่า ขายก็แพง แย่จัง" เด็ก ๆ ขายช่วงแรก ๆ สนุกสนานมาก ขายวันแรกเกลี้ยงเลย ทำประมาณ 50 ถ้วย เด็ก ๆ บอกว่าทำแค่พอขายหมดก็พอ ตอนหลังมีคนถามว่าน่าจะทำใหญ่กว่านี้ เด็ก ๆ ก็ลองดูแต่ทำไม่มาก ก็ขายได้ เขาบอกว่าลูกค้าถามว่า "ทำไมขายถูกจัง" เพราะราคาขายเด็ก ๆ เขาคิดจากของที่เขาซื้อรวมค่าน้ำ ค่าแก๊ส แล้วค่าแรงอีกนิดหน่อย ไม่รวมค่ารถรับส่ง ค่าแรงพ่อกับแม่นะ แต่แม่ถือว่าแม่ได้กำไร เพราะได้ใช้เป็นหลักสูตรการสอนได้ทั้งคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เศรษฐศาสตร์ การตลาด การบริหารจัดการ CSR และธรรมะ เด็ก ๆ รู้เทคนิคกรณีพบว่าผลไม้รวมในน้ำเชื่อมหมดจะต้องบอกลูกค้าอย่างไร กรณีต้องเปลี่ยนแบบภาชนะชั่วคราวเนื่องจากที่ใช้อยู่หมด stock สูตรควรปรับลดหวานลงนิดหน่อยเพื่อให้รสชาติดีขึ้น ผลไม้ที่ควรนำมาทำเป็น fruit slad ควรมีอะไรบ้าง การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความอดทนอดกลั้น ประหยัดอดออม การแบ่งปัน การให้อภัย การคิดเชิงบวก ทักษะการเจรจาต่อรอง เป็นต้น เด็ก ๆ บอกว่า "ผู้ใหญ่เดี๋ยวนี้ก็อยากทานเหมือนกับเด็ก ถ้าจะทำขายต้องให้เด็กชิมก่อน" "ของที่ใช้ทุกอย่างต้องดี สด สะอาด เพราะคนซื้อก็อยากทานของอร่อยอย่างมีความสุข เหมือนเรา" ดังนั้น slogan ที่เด็ก ๆ ตั้งสำหรับการขายเต้าฮวย ว่า "สด สะอาด
อร่อย เพื่อสุขภาพ" ขายได้ประมาณเกือบ 2 เดือน ประมาณสัปดาห์ละ 2 วัน ขายบ้างหยุดบ้างเพราะไปต่างจังหวัดกับคุณพ่อ ก็มีคนถามถึงเด็ก ๆ แต่ก็มีเสียงเล่าอ้างต่าง ๆ ในทางลบเกี่ยวกับผู้ปกครอง ในช่วงเวลาที่เด็ก ๆ กำลังมีความสุขสนุกกับการเรียนรู้และพัฒนาสิ่งที่เขาทำอยู่ สุดท้ายแม่ก็ต้องอธิบายความจำเป็นว่า "เราเริ่มเรียนรู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำควรจะพัฒนาอย่างไร ตอนนี้เราหยุดกิจกรรมไว้แค่นี้ก่อน เอาไว้ในอนาคตถ้าลูกอยากทำอีกและโตพอที่จะรับผิดชอบงานได้เองทั้งหมดค่อยเริ่มใหม่ก็ยังไม่สายดีไหม" เด็ก ๆ ท่าทางเศร้าเล็กน้อย แต่ก็เข้าใจและก็ยิ้มได้ พี่ฟลู๊คพูดและถามขึ้นมาว่า "หนูยังอยากทำอยู่ ถ้าหนูไม่เดินขายล่ะ" "แล้วจะใช้วิธีไหน" "หนูจะทำนามบัตรแจกลูกค้า ใครสนใจก็โทรมาแล้วหนูจะทำส่ง ฝากคุณแม่ไปส่งให้ ถ้าหนูไปที่ทำงานกับแม่ หนูก็จะไปส่งเอง ถือโอกาสไปเยี่ยมลูกค้าด้วย" "แล้วทำนามบัตรแล้วหรือยัง" จากนั้น ลูกชายกับลูกสาวก็ขลุกอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 4 ชั่วโมง ถึงจะได้นามบัตรที่เขาเห็นว่าใช้ได้ print และช่วยกันตัดนามบัตร แม่ก็เลยถือโอกาสตอนช่วงที่ลูก ๆ จะไปแจกนามบัตรช่วยแจกแบบสอบถามประเมินผลการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ไปด้วย ผลตอบกลับดีมาก เด็ก ๆ ปลื้มใจใหญ่ แม่ก็พลอยยินดีไปด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น